การนัดหยุดงานของกรรมกรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 เพื่อเรียกร้องเรื่องค่าแรงและสวัสดิการอย่างเป็นธรรม เริ่มมีการยกระดับและเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งปี พ.ศ. 2515 รัฐบาลถูกกดดันจนตั้งคณะกรรมการพิจารณากำหนดค่าแรงขั้นต่ำขึ้น และสุดท้ายก็มีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรกเกิดขึ้น ในวันที่ 17 เมษายน 2516 ในราคาที่ 12 บาท ถือได้ว่าเป็นอัตราที่มีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าครองชีพในขณะนั้น เฉกเช่นเดียวกันกับปัจจุบันที่ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ในราคาเพียง 313-336 บาท จะพบได้ว่าจากระยะเวลาที่ผ่านมาทั้งสิ้น 48 ปี มีการปรับค่าแรงทั้งสิ้น 49 ครั้ง และช่วงที่การปรับค่าจ้างทิ้งช่วงนานที่สุดคือหลังรัฐประหารโดย คสช. โดยการปรับค่าจ้างขั้นต่ำทิ้งช่วงนาน 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2560 ในขณะที่ช่วงหลังวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 มีการทิ้งช่วงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพียง 1 ปี 3 เดือนเท่านั้น (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2539 ถึง 1 มกราคม 2541)
โดยจากสถิติอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะเห็นได้ว่าในปี 2556 เป็นการปรับฐานอัตราค่าจ้างครั้งใหญ่ของประเทศทำให้ค่าแรงขั้นต่ำปรับเป็น 300 บาททั่วประเทศ หรือคิดเป็นการปรับขึ้นประมาณ 6-30% หากคิดจากฐานอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2555 ที่ 222-273 บาท หลายฝ่ายในขณะนั้นกังวลว่าเป็นการทำให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นจนเท่ากับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นมาหรือไม่ ซึ่งจากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่าในปี 2556 ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานปรับตัวขึ้นเพียง 2.18% และดัชนีราคาสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ปรับตัวขึ้น 3.4% เท่านั้น ดังนั้นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลแต่อย่างใด โดยเฉพาะช่วงวิกฤติเช่นนี้ยิ่งเป็นช่วงสำคัญของรัฐบาลที่ต้องปรับขึ้นค่าจ้างให้กับแรงงานเพื่อพยุงกำลังซื้อและลดความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างเช่นที่หลาย ๆ ประเทศดำเนินการ การที่รัฐบาลชะลอการปรับค่าจ้างก็ยิ่งทำให้เงินในมือประชาชนน้อยลง-หนี้สิ้นเพิ่มพูนขึ้น ซึ่งจะเป็นระเบิดทางเศรษฐกิจที่รอวันปะทุหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้จำนวนมากพร้อม ๆ กันขึ้นมาในอนาคต
การปรับค่าจ้างขั้นต่ำถือว่าเป็นสิ่งที่แรงงานหลายคนคาดหวัง เพราะเศรษฐกิจมีการเติบโตและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นทุกปีส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งทำให้รายได้ที่แท้จริงลดลงหากการปรับขึ้นค่าจ้างน้อยเกินไป โดยการปรับค่าแรงขั้นต่ำของไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมีอัตราเฉลี่ยประมาณ 1% ต่อปีเท่านั้น ในขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 2% ต่อปี ส่งผลให้ความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มคนรวย ในขณะที่แรงงานมีค่าครองชีพสูงขึ้นจนทำให้เกิดการก่อหนี้เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป
อ้างอิง
เราทุกคนคือ “แรงงาน” ที่มีชีวิต ร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานที่คุณมี บางทีอาจมีหลายคนที่เจอประสบการณ์เดียวกัน
พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย
503/20 นิคมมักกะสัน ถนนมักกะสัน แขวง มักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
วันเวลาทำการ
เปิดบริการทุกวันพุธ - อาทิตย์
เวลา 10:00 - 16:30 น.