ตุ๊กตาเหล่านี้ถูกเก็บมาจากซากโรงงานผลิตตุ๊กตาและของเล่นเด็ก บริษัท เคเดอร์อินดัสเทรียล (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท ไทยจิว ฟู อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ตั้งอยู่ที่ อ.สามพราน จ.นครปฐม เป็นบริษัทที่มีเครือข่ายการผลิตทั้งในฮ่องกง ไต้หวัน ไทย และอีกหลายแห่งทั้งในยุโรป และสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 เวลาประมาณ 16.00 น. ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่จนกลายมาเป็นโศกนาฏกรรมของคนงานเคเดอร์ ส่งผลให้คนงานเสียชีวิตทั้งสิ้น 188 คน เป็นคนงานชาย 14 ราย ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นคนงานหญิง 174 ราย ไม่สามารถพิสูจน์ซากศพเพื่อระบุตัวตนได้ จำนวน 10 คน รวมถึงมีผู้ได้รับบาดเจ็บร่วม 469 คน โดยมีเด็กนักเรียนที่เข้าไปทำงานชั่วคราวในโรงงานอีกด้วย นับว่าเป็นอุบัติภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในภาคอุตสาหกรรมไทย สาเหตุที่ทำให้เกิดการสูญเสียจำนวนมาก เนื่องจากโรงงานดังกล่าวขาดมาตรฐานหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างอาคารที่ไม่ได้ออกแบบเพื่อให้มีวัสดุหุ้มป้องกันไฟ ทำให้เมื่อเกิดไฟไหม้โครงสร้างจึงพังทลายลงอย่างรวดเร็ว ไม่มีระบบเตือนภัย ประกอบกับเสียงเย็บจักรทำให้คนงานไม่ทราบเหตุการณ์ รวมถึงบันไดขนาดกว้าง 1.60 เมตร จำนวน 2 แห่งของอาคารและประตูทางเข้าออกภายในอาคาร กว้าง 1.60 เมตร จำนวน 2 แห่ง มีขนาดเล็กเกินไปเช่นกัน ไม่สามารถรองรับการหนีไฟของคนงานจำนวน 2,000 คน ออกจากอาคารได้ทันท่วงที ลิฟท์ส่งของที่มีประตูในลักษณะของประตูเหล็กยึด ทำให้ช่องลิฟท์กลายเป็นปล่องควันไฟ ดูดควันและไฟให้ลุกลามจากชั้นล่างขึ้นสู่ทุกชั้นของอาคาร คนงานจำนวนมากจึงต้องหนีเอาตัวรอดโดยการปีนหน้าต่างกระโดดลงจากอาคาร จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้คนงานบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก บริษัทเคเดอร์ฯ เคยเกิดเหตุเพลิงไหม้มาแล้ว 2 ครั้ง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ไปออกตรวจโรงงานแห่งนี้หลังจากเกิดเพลิงไหม้ครั้งที่ 2 เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2536 และได้มีหนังสือแนะนำแก่นายจ้างให้ปฏิบัติตาม และได้แจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทภายหลังเหตุการณ์เพลิงไหม้ครั้งใหญ่นี้ในข้อหา ร่วมกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้คนบาดเจ็บและถึงแก่ความตาย และจัดให้มีการก่อสร้างอาคารอุตสาหกรรมผิดไปจากแบบแปลนหรือเงื่อนไขที่ท้องถิ่นกำหนดไว้ในใบอนุญาต บริเวณคอของตุ๊กตาซิมซัน หนึ่งในตุ๊กตาตัวโปรดของเด็ก ๆ ทั่วโลกเขียนว่า “ผลิตภัณฑ์นี้ปลอดภัยสำหรับเด็ก” แต่เยาวชนที่ต้องทำงานเพื่อสร้างตุ๊กตาเหล่านี้กลับมีชีวิตที่ไม่ปลอดภัยในการทำงานจนต้องมาเจอโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในสังคม และเหตุการณ์นี้ยังส่งผลให้แรงงานรวมกลุ่มกดดัน เรียกร้อง ให้เกิดวันแห่งความปลอดภัยในที่ทำงานแห่งชาติอีกด้วย แม้ในยุคสมัยปัจจุบันความปลอดภัยในที่ทำงานของคนงานในสถานประกอบการรวมถึงชุมชนโดยรอบจะยังไม่ครอบคลุมทุกด้านก็ตาม
เราทุกคนคือ “แรงงาน” ที่มีชีวิต ร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานที่คุณมี บางทีอาจมีหลายคนที่เจอประสบการณ์เดียวกัน
พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย
503/20 นิคมมักกะสัน ถนนมักกะสัน แขวง มักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
วันเวลาทำการ
เปิดบริการทุกวันพุธ - อาทิตย์
เวลา 10:00 - 16:30 น.