การเปลี่ยนแปลงการปกครองตอนย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นการเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชที่อำนาจเด็ดขาดอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ การเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้นนำโดยคณะบุคคลที่เรียกว่า “คณะราษฎร” อันประกอบด้วยข้าราชการทหาร ข้าราชการพลเรือน และประชาชนจำนวนหนึ่งที่มองเห็นว่าระบอบการปกครองที่เป็นอยู่ขณะนั้นล้าหลัง ไม่สามารถแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้ รวมถึงผู้ใช้แรงงานส่วนหนึ่งได้เข้าไปร่วมในขบวนการอภิวัฒน์ครั้งนั้นเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาคมคนงานรถรางและสมาคมคนงานรถไฟ ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการปกป้องพิทักษ์ประชาธิปไตย ร่วมกับรัฐบาลคณะราษฎร ประชาชนจำนวนมาก และสหภาพแรงงานหลายแห่ง ในการต่อต้านการก่อกบฏของบวรเดช
ในขณะที่พลเอกพระองค์เจ้าบวรเดชได้นำกำลังทหารจากหัวเมือง เพื่อหมายที่จะยึดอำนาจและล้มล้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เพิ่งถูกสถาปนาขึ้น ในเดือนตุลาคม 2476 ถวัติ ฤทธิเดช และสุ่น กิจจำนงค์ นักหนังสือพิมพ์กรรมกรและผู้นำการต่อสู้ของกรรมกรรถราง รวมทั้งกรรมกรภายใต้การจัดตั้งจำนวน 3,000 คน ได้ขอเป็นอาสาสมัครไปรบกับกำลังฝ่ายขบถต่อพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แต่พวกเขาถูกขอกำลังกรรมกรช่วยทำหน้าที่รักษาความสงบภายในพระนครและธนบุรี พวกเขาปฏิบัติหน้าที่ในการปราบกบฏคราวนั้นจนเป็นผลสำเร็จ
หลังเหตุการณ์นั้น รัฐบาลได้ทำเหรียญมอบให้กับผู้ที่เข้าร่วมสนับสนุนรัฐบาล เรียกว่า “เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณ และเชิดชูในการต่อสู้เพื่อพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ ยึดมั่นต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงของพวกเขา
อ้างอิง
เราทุกคนคือ “แรงงาน” ที่มีชีวิต ร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานที่คุณมี บางทีอาจมีหลายคนที่เจอประสบการณ์เดียวกัน
พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย
503/20 นิคมมักกะสัน ถนนมักกะสัน แขวง มักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
วันเวลาทำการ
เปิดบริการทุกวันพุธ - อาทิตย์
เวลา 10:00 - 16:30 น.